ประวัติของชมรมจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและประสาทจิตเวชศาสตร์ไทย
(History of Thai Society for Geriatric psychiatry and Neuropsychiatry (TSGN))

กำเนิดกลุ่มจิตแพทย์ผู้สนใจจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและประสาทจิตเวชศาสตร์ (GeNPIG)

ชมรมจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและประสาทจิตเวชศาสตร์ไทยเดิมเรียกว่า กลุ่มจิตแพทย์ผู้สนใจจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและประสาทจิตเวชศาสตร์ หรือ Geriatric Psychiatry and Neuropsychiatry Interest Group (GeNPIG) เป็นกลุ่มองค์กรภายใต้การดำเนินงานของสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กลุ่มนี้ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. 2549 โดยการชักนำของศาสตราจารย์นายแพทย์พิเชฐ อุดมรัตน์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ณ ขณะนั้นและเหล่าจิตแพทย์ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯ อีก 17 ท่าน ซึ่งมีรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงสาวิตรี อัษณางค์กรชัย เป็นประธานกลุ่มท่านแรก รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงพูนศรี รังษีขจีและ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุขเจริญ ตั้งวงศ์ไชย เป็นรองประธานฯ และผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงณหทัย วงศ์ปการันย์เป็นเลขานุการฯ จิตแพทย์ในกลุ่มนี้ล้วนแล้วแต่มีความเชี่ยวชาญ หรือสนใจงานทางด้านจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและหรือประสาทจิตเวชศาสตร์ ซึ่งถือเป็นการริเริ่ม ความตั้งใจและวิสัยทัศน์ของ ศาสตราจารย์นายแพทย์พิเชฐ อุดมรัตน์ที่จะสนับสนุนให้จิตแพทย์ชาวไทยได้มีการพัฒนาความชำนาญและแลกเปลี่ยนความรู้กันในด้านจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและประสาทจิตเวชศาสตร์ให้ทันนานาอารยประเทศ

กรรมการและสมาชิกหลักของ GeNPIG เป็นจิตแพทย์จากมหาวิทยาลัยและศูนย์ฝึกอบรมจิตแพทย์ทั่วประเทศไทย กลุ่มนี้ได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ จัดประชุมรวมถึงจัดกิจกรรมครั้งแรกขึ้นในวันที่ 16 มีนาคม 2550 การจัดประชุมของกลุ่มมีขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ส่วนกิจกรรมวิชาการจัดขึ้นปีละ 4 ครั้ง และจากการสนับสนุนของสมาคมฯ กลุ่มฯ นี้ได้สร้างเครือข่ายวิชาการในระดับประเทศระหว่างจิตแพทย์ผู้สนใจในงานด้านเดียวกัน ซึ่งได้เป็นการเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และพัฒนาความรู้เกี่ยวกับจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุผ่านการจัดประชุมวิชาการที่จัดให้แก่ผู้ฟัง เช่น จิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน ประสาทแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องอื่นๆ กลุ่มนี้ยังได้ให้คำแนะนำในด้านความรู้และผลงานอย่างสม่ำเสมอ สมาคมฯ ก็มีวิสัยทัศน์ในการสนับสนุนจิตแพทย์ไทยให้บรรลุความสำเร็จในการให้บริการแก่ผู้สูงอายุชาวไทย อย่างมีคุณภาพสูงและให้มีการฝึกอบรมระดับประเทศในการรับรองความรู้ความสามารถของจิตแพทย์ในด้านนี้เป็นสาขาเฉพาะทางในอนาคต และได้รับรองสถานะของ GeNPIG เป็นองค์กรลูก ทำงานภายใต้การรับรองของสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยในการประชุมสมาคมฯ ในเดือนสิงหาคม 2552

เติบโตเป็นองค์กรสมทบของ International Psychogeriatric Association

ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา กลุ่มฯ นี้ได้มีการตกลงว่าจะสมัครเป็นองค์กรสมทบของ International Psychogeriatrics Association-IPA เพื่อที่จะขยายการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์วิชาการ และสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรวิชาชีพในระดับนานาชาติ และเมื่อกลุ่มฯ นี้ได้รับการรับรองจากสมาคมฯ อย่างเป็นทางการให้เป็นองค์กรลูกของสมาคมฯ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 ก็ได้สมัครเข้าเป็นองค์กรสมทบของ IPA ซึ่งก็ได้ประกาศรับอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กันยายน 2552 ในงานประชุม IPA ครั้งที่ 15 ณ เมืองมอนทรีอัล ประเทศแคนาดา

กำเนิดชมรมจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและประสาทจิตเวชศาสตร์ไทย

GeNPIG ได้มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละปีจะมีสมาชิกที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำงานร่วมกัน หลังการประชุมครั้งที่ 3/52 GeNPIG ได้มีการเปิดรับสมาชิกกลุ่ม ซึ่งมีผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิกอย่างต่อเนื่อง และหลังการประชุมครั้งที่ 1/53 GeNPIG ถูกเปลี่ยนสถานะเป็นชมรม ใช้ชื่อว่า ชมรมจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและประสาทจิตเวชศาสตร์ไทย หรือ Thai Society for Geriatric psychiatry and Neuropsychiatry-TSGN โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์พิเชฐ อุดมรัตน์เป็นประธานชมรมฯ คนแรก คณะกรรมบริหารส่วนใหญ่ยังคงเป็นคณะกรรมการชุดเดิม และชมรมยังคงทำภารกิจอย่างต่อเนื่องของ GeNPIG เช่นเดิม แต่มีการเติบโตเป็นองค์กรที่มั่นคงขึ้น ได้มีการมอบหมายหน้าที่ให้สมาชิกหลักมากขึ้น

การดำเนินงานขององค์กร

พันธกิจของ  GeNPIG คือการเสริมสร้างความรู้สำหรับจิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และบุคลากรผู้ให้บริการด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิตให้แข็งแกร่งขึ้น เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อความรู้ของบุคลากรวิชาชีพเหล่านี้เพิ่มขึ้นแล้ว สุขภาพจิตของผู้สูงอายุในประเทศไทยก็จะดีขึ้นตาม

กิจกรรมหลักของกลุ่มฯ คือกิจกรรมวิชาการ เช่น การบรรยายวิชาการ การฝึกอบรมและอภิปรายผู้ป่วยน่าสนใจ ซึ่งจัดสำหรับสมาชิกกลุ่มฯ และแพทย์แผนกอื่นๆ ที่สนใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ
 

 

แก้ไขล่าสุด ( วันอังคารที่ 24 สิงหาคม 2010 เวลา 08:47 น. )